วันอังคารที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

          หากพูดถึงเรื่องชีวิต  ใครต่อใครก็ต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่าการบริหารชีวิตให้สมดุลเป็นไปได้อย่างราบรื่นเป็นเรื่องยาก  ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะเข้าใจชีวิตรอบด้านได้ภายในเวลาอันสั้น  ซึ่งแน่นอนว่านั่นคือเรื่องจริงว่าไม่ง่ายเลยจริงๆ เพราะเป็นธรรมชาติที่ชีวิตคนเรามักมีขึ้นมีลง มีทั้งช่วงสุข ทุกข์ สนุกสนาน เบิกบาน ผ่านพบอุปสรรคมากมาย และส่งท้ายด้วยความสำเร็จ ฯลฯ    แต่เชื่อไหมครับ?  ว่ามันก็ไม่ยากจนเกินไปหากเราเข้าใจถึงภาพรวม และมิติด้านต่างๆของชีวิตเรา  ซึ่งการเข้าใจภาพรวมนี้เองจะช่วยให้เรามองเห็นเป็นมุมกว้าง และช่วยให้เราวางแผนเพื่อจัดการชีวิตต่อไปได้ง่ายขึ้น  ดังนั้นบทความนี้ผมจึงอยากแบ่งปันไอเดียจากหนังสือเล่มหนึ่งที่เพิ่งอ่านไปเมื่อเร็วๆนี้ให้กับทุกท่านได้ลองนำไปใช้ดูนะครับ






          ก่อนจะเริ่มเนื้อหาของบทความนี้ ผมอยากจะแนะนำให้คุณได้รู้จักกับหนังสือเล่มนี้กันเสียก่อน  “Learn to Balance Your Life” โดย “Michael and Jessica Hinz”  ประวัติโดยย่อของผู้เขียนนี้เองก็เป็นนักจิตวิยาให้คำปรึกษา มีประวัติการทำงานต่างๆมากมายที่เชื่อถือได้ (ซึ่งไม่ขอระบุไว้ในที่นี้นะครับ เพราะประวัติผู้เขียนค่อนข้างเยอะมาก ถ้าสนใจประวัติจริงๆ ผมแนะนำให้ไปค้นหาใน Google จะได้ข้อมูลที่ครบถ้วนกว่า)  ซึ่งทั้งสองท่านนี้ก็ได้เขียนหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ในโลกปัจจุบันที่นับวันจะมีแต่ความ ขาดๆเกินๆ ให้สามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ เกิดสมดุล เพื่อสร้างความสุขในการใช้ชีวิต  และบทความนี้ผมก็จะยกประเด็นที่สำคัญที่สุดจากหนังสือเล่มนี้มานั่นคือ “วงล้อสมดุลชีวิต”

          วงล้อสมดุลชีวิต  ได้แบ่งมิติความสำเร็จในชีวิตออกเป็น 8ด้านด้วยกัน  ได้แก่  การงาน  ที่อยู่อาศัย  ครอบครัว  การเงิน  เรื่องส่วนตัว  งานอดิเรก  สังคม  และจิตใจ  โดยวิธีการวิเคราะห์ชีวิตเราจากวงล้อสมดุลชีวิตนี้ก็ง่ายมากครับ เพียงแค่ให้คะแนนลงไปในด้านต่างๆ ตั้งแต่ 0-10 คะแนน ( 0 = ไม่ประสบความสำเร็จเลย  และ  10 = ประสบความสำเร็จมากที่สุด )  โดยวัดจากระดับความภาคภูมิใจที่ได้รับ  ซึ่งในระหว่างที่ทำแบบประเมินนี้เอง  ผมอยากให้คุณใช้เวลากับตัวเองสักครู่ และตั้งใจทำมันให้ดีที่สุด เป็นกลาง ปราศจากอคติทั้งปวง เพื่อให้ผลลัพธ์ได้ตรงตามความจริงมากที่สุด  ซึ่งคุณสามารถเซฟรูปจากด้านล่างนี้เพื่อนำไปใช้งานได้เลยครับ






          ทำไมคุณถึงต้องทำแบบประเมินนี้?   ให้ลองนึกภาพตามว่าคุณกำลังดำน้ำอยู่ในน้ำลึก แล้วถูกจับให้หมุนตีลังกาไปมาหลายสิบรอบ เมื่อคุณรู้ตัวอีกทีก็ไม่รู้แล้วครับว่าทิศไหน เหนือหรือใต้ เพราะคุณจะมึนงงสับสนไปหมด  หนทางเดียวที่คุณจะขึ้นมาเหนือน้ำได้คือค่อยๆเป่าลมออกมา แล้วว่ายน้ำตามฟองอากาศที่เป่าออกมานำทางจนสามารถขึ้นเหนือน้ำได้   เปรียบเทียบได้คือ ในชีวิตคุณต้องพบเจอกับเรื่องราวต่างๆมากมาย และพบกับปัญหามาให้แก้ไขอย่างไม่จบสิ้นในทุกวัน ซึ่งก็นับเป็นความท้าทายอย่างหนึ่งของชีวิตที่คุณต้องรับให้ได้จากความเปลี่ยนแปลงที่ตลอดเวลา   ในบางครั้งสภาวะของเราก็ไม่ได้ต่างจากที่ผมยกตัวอย่างมาหรอกครับ  ดังนั้นคุณควรจะมีเครื่องมืออะไรสักอย่างที่ช่วยชี้ทางออกของปัญหาให้กับตัวเอง ซึ่งนั่นคือเหตุผลว่าทำไมคุณถึงต้องทำแบบประเมินนี้


          
เมื่อทำแบบประเมิน วงล้อสมดุลชีวิต เสร็จแล้ว ก็ได้เวลาที่ต้องประเมินวงล้อของคุณกันแล้วว่าผลลัพธ์ของสมดุลชีวิตคุณเป็นอย่างไร โดยดูได้จากรูปร่างโดยรวมของวงล้อสมดุลชีวิตเป็นหลักได้เลยครับ

มีความพึงพอใจในทุกด้านของชีวิตเท่าเทียมกันระดับสูง
::   นั่นหมายความว่าวงล้อนี้จะเป็นวงกลมโดยสมบูรณ์  โดยสามารถหมุนแล่นผ่านชีวิตของคุณได้โดยไม่ติดขัดประการใด


มีความพึงพอใจในทุกด้านของชีวิตเท่าเทียมกันระดับต่ำ
::   ในลักษณะนี้ ชีวิตของคุณก็สามารถเป็นไปได้อย่างราบรื่นเช่นกัน  แต่คุณจะไม่สามารถใช้ชีวิตได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ เพราะวงล้อของคุณเล็กกว่าแบบแรก ทำให้ติดขัดกับอุปสรรค หรือวิกฤตต่างๆในชีวิตได้ง่ายกว่าวงล้อแบบแรกนั่นเอง  ดังนั้นจึงควรพัฒนาวงล้อต่อไปให้สมบูรณ์ขึ้น

มีความพึงพอใจในแต่ละด้านสูงๆ ต่ำๆ ต่างกันมาก
::  
วงล้อในลักษณะสุดท้ายนี้เป็นสิ่งที่จะก่อให้เกิดภาวะไม่สมดุลที่สุดแล้ว เพราะวงล้อของคุณมีรูปร่างบิดเบี้ยวนั่นเอง ทำให้ไม่สามารถที่จะแล่นได้อย่างราบรื่นแม้ในภาวะปกติ  จึงควรแก้ไขให้มีความสมดุลของชีวิตในแต่ละด้านมากขึ้นเพื่อเป็นวงล้อที่สมดุล และสามารถก้าวผ่านปัญหาต่างๆได้โดยไม่ติดขัด



(ตัวอย่าง)


          หลังจากทำแบบประเมินนี้เสร็จแล้วคุณจะเห็นภาพมุมกว้างของชีวิตได้อย่างง่ายดายว่าจุดสมดุลของชีวิตคุณอยู่ที่ใด  จุดแข็งของคุณคืออะไร  ชีวิตด้านใดที่คุณต้องเอาใจใส่เป็นพิเศษ  ทำให้สามารถเห็นภาพได้เองว่าต้องจัดการและพัฒนาสมดดุลชีวิตคุณอย่างไรบ้าง   ซึ่งทางผู้เขียนหนังสือได้แนะนำให้ทำแบบประเมินนี้ทุกครั้งที่ต้องการตรวจสอบสมดุลชีวิต (ส่วนตัวผมมองว่าถ้าทำทุกเดือน หรือทุก 3เดือน ก็ดีเหมือนกัน เพราะจะได้เป็นการตรวจสอบตัวเองเป็นระยะไปด้วย) และเก็บบันทึกผลการประเมินนี้ไว้ทุกครั้ง เพื่อดูความเปลี่ยนแปลงของสมดุลชีวิตเรา

ท้ายสุดนี้ … ผมแนะนำให้ลองไปหาหนังสือเล่มนี้มาอ่านกันดูนะครับ ถือได้ว่าเป็นหนังสือคู่มือชีวิตเลยทีเดียว และเชื่อว่าทุกท่านจะได้รับเนื้อหาที่ดีเพื่อนำไปสร้าง “วงล้อสมดุลชีวิต” ที่สมบูรณ์แบบได้กันทุกคนจากบทความนี้ครับ


จากหนังสือ:  Learn to Balance Your Life
โดย  Michaeland Jessica Hinz

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น